Categories
Article

Industry 5.0 ทางสายกลางผสานจุดแข็งแรงงานและระบบอัตโนมัติ

แม้ว่าผู้ผลิตในประเทศไทยส่วนใหญ่อาจยังไปไม่ถึงอุตสาหกรรม 4.0 ได้อย่างเต็มรูปแบบ แต่การมาถึงของอุตสาหกรรม 5.0 จะกลายเป็นสิ่งใหม่ที่สามารถช่วยผู้ประกอบการได้อย่างหลากหลายและครบมิติมากกว่าด้วยหัวใจสำคัญที่ยังคงรักษาทักษะ ‘แรงงาน’ เอาไว้ในระบบในฐานะทรัพยากรอันล้ำค่า

Industrial 5.0

การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญสำหรับภาคการผลิตนั้นคงหนีไม่พ้นเรื่องของ ‘การปฏิวัติอุตสาหกรรม’ ที่ปัจจุบันเราอยู่กันในยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรือที่เราเรียกกันอย่างง่ายว่า ‘อุตสาหกรรม 4.0’ และกำลังอยู่ในช่วงที่ค่อย ๆ เปลี่ยนผ่านไปยัง ‘อุตสาหกรรม 5.0’ ซึ่งก่อนที่เราจะมาคุยกันถึงยุคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต จะขอเชิญชวนทุกท่านมาทบทวนเกี่ยวกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 – 4 กันอย่างรวบรัดเสียก่อน

ภาพรวมการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1-4

การปฏิวัติอุตสาหกรรมนั้นสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้กับโลกใบนี้เพราะเกี่ยวข้องกับทั้งเทคโนโลยีที่ใช้, เศรษฐศาสตร์สังคม ตลอดจนวัฒนธรรมต่าง ๆ เช่น การใช้วัสดุที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น, ใช้แหล่งพลังงานใหม่ หรือการเกิดขึ้นของอาชีพแรงงานที่รวมตัวกันเป็นสหภาพ เป็นต้น โดยหลักใหญ่ใจความอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการผลิตสินค้าตลอดจนการพัฒนาของสินค้าที่เกิดขึ้นซึ่งจะขอสรุปไว้สั้น ๆ ดังนี้

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 –ยุคแห่งเครื่องจักรไอน้ำ’ มีการใช้ไอน้ำเพื่อทุ่นแรงและเพิ่มความสามารถในการผลิตผ่านกลไกที่มีความเรียบง่าย เช่น การทอผ้าโดยใช้ไอน้ำที่ให้ผลผลิตมากกว่าแบบเดิมถึง 8 เท่าในเวลาที่เท่ากัน

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 – ‘ยุคแห่งสายการผลิตและไฟฟ้า’ การพัฒนาแนวคิดเรื่องสายการผลิตของ Henry Ford นั้นทำให้เกิดการผลิตแบบ Mass Production ที่มีกำลังผลิตสูงและทำงานได้อย่างรวดเร็วมากขึ้นในขณะที่ลดต้นทุนในการผลิตไปพร้อม ๆ กัน

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 – ‘ยุคแห่งคอมพิวเตอร์และเครื่องจักรอัตโนมัติ’ มีการใช้งานคอมพิวเตอร์ที่มีหน่วยความจำเพื่อตั้งค่าการทำงานของเครื่องจักรให้ทำงานได้โดยอัตโนมัติ รองรับการทำงานที่มีความซับซ้อนและต้องการความละเอียดในการผลิตสูงได้

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 – ‘ยุคแห่งข้อมูลและการเชื่อมต่อสื่อสาร’ ต่อยอดจากยุคที่ 3 ซึ่งเครื่องจักรสามารถป้อนคำสั่งและทำงานได้เอง ยุคที่ 4 ให้ความสำคัญกับระบบเครือข่ายและการบูรณาการเทคโนโลยี IT และ OT เข้าด้วยกัน เกิดเป็นระบบการทำงานร่วมกันในรูปแบบของโรงงานอัตโนมัติแทบจะเต็มรูปแบบ ที่ผสานเอาเทคโนโลยีอย่าง AI หรือ ML เข้าด้วยกันเปิดทางสู่การใช้งาน Digital Twins

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 5 (Industry 5.0)

ต้องยอมรับว่าการมาปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรือ อุตสาหกรรม 4.0 นั้นเป็นเหมือนอุดมคติสุดทางในรูปแบบหนึ่ง ให้คุณค่าเพียงประสิทธิภาพและผลิตภาพในฐานะประเด็นสำคัญที่ไม่มีสองรองลงมา จึงถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับการส่งมอบคุณค่าให้กับสังคม ไม่ว่าจะเป็นแง่มุมของสังคมภาพรวม สิ่งแวดล้อม และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างครบมิติ ยกตัวอย่างจากการลดบทบาทของแรงงานเพื่อกำจัด Human Error ให้มากที่สุดเป็นต้น

ซึ่งอุตสาหกรรม 4.0 ทำให้เห็นแล้วว่านอกจากจะเข้าถึงยาก ใช้ทรัพยากรมหาศาล ทั้งยังพยายามตัดทรัพยากรสำคัญอย่างแรงงานออกจากสมการอีกด้วย ทำให้อุตสาหกรรม 5.0 หันมาต่อยอดเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างมากในยุค 4.0 มาให้ความสำคัญกับความยั่งยืน, การมีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง (Human-Centric) และความยืดหยุ่น (Resilience) ในอุตสาหกรรม นั่นเอง

5.0 ยุคแห่งการผสานจุดเด่นของ ‘แรงงาน’ กับ ‘เทคโนโลยี’

เมื่อจุดเด่นของแรงงาน คือ การที่มีความยืดหยุ่นสูงและมีความสามารถในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้เป็นอย่างดี การใช้เทคโนโลยีเพื่อทดแทนศักยภาพเหล่านี้จำเป็นต้องใช้เงินทุนมูลค่ามหาศาลแต่ก็ยังไม่อาจทดแทนได้เต็มศักยภาพ อุตสาหกรรม 5.0 จึงปรับเปลี่ยนแนวคิดเป็นการนำ ‘คน’ หรือ ‘แรงงาน’ กลับเข้ามาอยู่ในสมการ และใช้เทคโนโลยีเข้ามาเสริมในส่วนที่แรงงานขาด ไม่ว่าจะเป็นความแม่นยำต่าง ๆ หรือในส่วนของ Payload ที่มีน้ำหนักมากเป็นต้น

เทคโนโลยีสำหรับยุค 4.0 เดิมที่ถูกพัฒนาขึ้นมานจะถูกส่งต่อมายังอุตสาหกรรม 5.0 โดยถูกปรับเปลี่ยนให้เข้ากับบริบทใหม่ที่เกิดขึ้นเพื่อส่งเสริมศักยภาพแรงงานผ่านเทคโนโลยีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเติมเนื้อวัสดุ, เทคโนโลยีกลุ่มเสมือนจริง Reality, หุ่นยนต์, Big Data และการวิเคราะห์, AI, Cloud, ความปลอดภัยทางไซเบอร์, IIoT และการจำลองผ่านโปรแกรมต่าง ๆ ซึ่งรวมถึง Digital Twins ที่มนุษย์จะถูกนับเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบที่แสดงผลเป็นข้อมูลด้วยเช่นกัน เช่น สถานีประกอบที่มีการทำงานของมนุษย์และ Cobot ทำงานร่วมกันผ่าน Machine Vision และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้มนุษย์มีขั้นตอนการทำงานที่ถูกต้องผ่านการชี้นำของระบบ ตลอดจนการช่วยหยิบจับหรือตรวจสอบคุณภาพของชิ้นงานเป็นต้น

ผลลัพธ์ที่ได้เมื่อควบรวมทักษะของมนุษย์เข้ากับเทคโนโลยีที่มีความแม่นยำและมีประสิทธิภาพสูง คือ โรงงานอุตสาหกรรมจะมีความยืดหยุ่นสูงในการผลิต สามารถปรับเปลี่ยนกระบวนการต่าง ๆ เพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรวดเร็วได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการลงทุนเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นนั้นเป็นไปได้มากกว่าเทคโนโลยียุค 4.0 ที่มีมูลค่าสูง ด้วยการใช้มนุษย์ในจุดที่มีความซับซ้อนหรือระบบตัดสินใจได้ยาก และการมาถึงของ AI ที่ปัจจุบันมีต้นทุนในการใช้งานที่ต่ำลงอย่างมาก ทำให้แรงงานถูกเสริมศักยภาพทั้งทางด้านกายภาพและมีตัวช่วยด้านความคิดเพิ่มเติมขึ้นมา ทำให้หลายคนมีคำจำกัดความอย่างง่ายสำหรับยุค 5.0 ว่า ‘Collaborative Era’ หรือ ‘ยุคแห่งความร่วมมือ’ นั่นเอง

ความแตกต่างระหว่างอุตสาหกรรม 4.0 และ อุตสาหกรรม 5.0

อุตสาหกรรม 5.0 นั้นยังคงใช้เทคโนโลยีจากยุค 4.0 เป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีที่ทำให้มนุษย์และเทคโนโลยีเชื่อมต่อเข้าหากันได้อย่างปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะ เช่น Smart Watch หรือแว่นสำหรับเทคโนโลยีกลุ่ม Reality หรือจะเป็นหุ่นยนต์ Cobot ที่ทำงานใกล้กับมนุษย์ได้อย่างปลอดภัยโดยมีจุดเด่นที่การรองรับ Payload ที่มากกว่ามนุษย์แต่อาจจะมีความเร็วที่ลดลงหากเทียบกับหุ่นยนต์อุตสาหกรรมแบบดั้งเดิม โดยมุมมองความแตกต่างจากข้อมูลของบริษัท ATOSS ผู้เชี่ยวชาญในการบริหารจัดการแรงงานสำหรับภาคธุรกิจมีดังนี้

Industrial 4.0 vs 5.0

สำหรับผู้ที่สนใจเทคโนโลยีการผลิตุยคใหม่ ไม่ว่าจะเป็นระบบอัตโนมัติ, หุ่นยนต์อุตสาหกรรม, เทคโนโลยี OT และ IT ในโรงงาน, การบริหารจัดการโรงงาน พบกับสินค้าเทคโนโลยีการผลิตเหล่านี้ที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและหัวข้อสัมมนาที่ทันสมัยได้ที่งาน AUTOMATION EXPO 2025 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาตินงนุช (NICE) พัทยา ระหว่างวันที่ 19 – 21 มีนาคม 2025

อ้างอิง:
https://research-and-innovation.ec.europa.eu/research-area/industrial-research-and-innovation/industry-50_en
https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S1877050923003605
https://www.sap.com/sea/insights/industry-5-0.html
https://www.desouttertools.com/your-industry/news/503/industrial-revolution-from-industry-1-0-to-industry-4-0
https://www.atoss.com/en/insights/blog/from-industry-4-0-to-industry-5-0#:~:text=Industry%205.0%20is%20a%20new,create%20sustainable%20products%20and%20services.