ล้อพูนผล ไรซ์มิลล์ ผู้ประกอบธุรกิจโรงสีข้าวรายใหญ่ในจังหวัดนครสวรรค์ได้ขยับขยายธุรกิจสู่การก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมแอลพีพี นครสวรรค์ ซึ่งเป็น Smart Agriculture Industrial Estate หรือนิคมอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารแบบครบวงจรที่แรกของประเทศไทย โดยมีการใช้แนวคิด Circular Economy เป็นหัวใจสำคัญของการออกแบบนิคมฯ
ต้องยอมรับว่าการเดินทางของล้อพูนผล ไรซ์มิลล์โรงสีและคัดคุณภาพข้าวจากผู้ประกอบการธุรกิจด้านผลผลิตการเกษตรนั้นได้เดินทางมาไกลเป็นอย่างมาก ตั้งแต่การเป็นโรงสี การยกระดับโรงสีด้วยเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติสำหรับโรงงาน ไปจนถึงการแตกสายของผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิม เช่น การผลิตน้ำมันรำข้าวภายใต้ชื่อของ แอลพีพี ไรซ์ บราน ออยล์ ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และเมื่อวีนที่ 10 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมาได้มีการลงนามกับกนอ. เพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมแอลพีพี นครสวรรค์เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งนิคมฯ แห่งใหม่นี้เองยังเป็นนิคมอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารแบบครบวงจรที่แรกของประเทศไทย ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการต่อยอดความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่มีทั้งหมดของกลุ่มธุรกิจล้อพูนผลได้อย่างน่าจับตามอง
‘ล้อพูนผล’ ผสมผสานความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีผ่านแนวคิด ESG
‘การทำธุรกิจคงไม่อาจเติบโตได้อย่างมั่นคงหากธุรกิจนั้นมัวคิดถึงแต่ตัวเองอย่างเดียว’ อาจจะเป็นหนึ่งในคำจำกัดความที่ทำให้เห็นถึงแนวคิดของคุณถวิล ล้อพูนผล กรรมการบริหารบริษัทแอลพีพี อินดัสเตรียล เอสเตทจำกัด ที่ดำเนินนโยบายนี้มาตั้งแต่ธุรกิจโรงสีข้าวซึ่งเป็นธุรกิจหลักของครอบครัว และมีแรงงานเพียงหลัก 10 เท่านั้น หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่ล้อพูนผล ไรซ์มิลต้องเผชิญหน้า คือ เรื่องของแรงงาน เนื่องจากการขนกระสอบข้าวและการคัดข้าวเป็นงานที่หนัก การนำระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้นอกจากจะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มคุณภาพข้าวแล้วแล้ว แรงงานที่มีอยู่เดิมจะทำงานได้อย่างปลอดภัย มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น แม้แต่ในมุมของชาวนาที่มาขายข้าวเองก็มีระบบช่างวัดน้ำหนักเพื่อตรวจคุณภาพอย่างเป็นธรรม เมื่อมีการใช้งานเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติในโรงงาน การทำงานทุกขั้นตอนในโรงงานจึงถูกติดตามและควบคุมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นความชื้น หรืออุณหภูมิในการเก็บรักษา ตลอดจนการบรรจุที่ไม่จำเป็นต้องมีการปนเปื้อนจากแรงงานใด ๆ ทั้งยังลดการปลดปล่อยคาร์บอนในกระบวนการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสามารถวัดผลเป็นตัวเลขได้อย่างชัดเจน ในขณะที่มีการต่อยอดนำส่วนที่ไม่ได้ใช้จากผลิตภัณฑ์เดิมมาแปรรูปเป็นน้ำมันรำข้าวได้อีกต่อหนึ่งด้วย จะเห็นได้ว่าวิธีดำเนินงานของล้อพูนผล ไรซ์มิล นั้นถูกสร้างและต่อยอดมาตามแนวความคิดด้านความยั่งยืนอย่าง ESG ครอบคลุมทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental), สังคม (Social) และ ธรรมาภิบาล (Governance) ซึ่งเป็นการดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในแต่ละภาคส่วนพร้อมกันกับการเติบโตของธุรกิจ
‘นิคมอุตสาหกรรมแอลพีพี นครสวรรค์’ ต่อยอดความเชี่ยวชาญสู่ผู้ให้บริการพื้นที่การผลิตที่มองลึกถึง Ecosystem ทุกระบบ
จากการเติบโตของล้อพูนผล ไรซ์มิล สู่ แอลพีพี ไีซ์บราน ออยล์ วันนี้กลุ่มล้อพูนผลได้เริ่มต้นเปิดตัวอย่างเป็นทางการกับธุรกิจใหม่อย่าง ‘นิคมอุตสาหกรรมแอลพีพี นครสวรรค์’ ที่กลั่นเอาประสบการณ์และวิสัยทัศน์ที่มีให้กลายเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ผสานแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เข้ากับกลยุทธ์ธุรกิจเพื่อความอยู๋รอดอย่างยั่งยืน (Resilient Organization for Sustainable Development Goals)
ข้อมูลจำเพาะนิคมอุตสาหกรรมแอลพีพี นครสวรรค์ มูลค่าการลงทุน: 854.44 ล้านบาท คาดว่าจะสร้างมูลค่าการลงุทนได้ถึง 18,216 ล้านบาท พื้นที่โครงการ: 673-1-45.0 ไร่ ที่ตั้งโครงการ: ตำบลโคกเดื่อ อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์ ระยะพัฒนาโครงการ: ประมาณ 3 ปี คาดว่าจะเปิดดำเนินการในปี 2569 จุดเด่นโครงการ: ส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานกระจายสู่ภาคกลางตอนบน มีการกำหนดกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายให้สอดคล้องกับนโยบาย BCG ในการใช้วัตถุดิบด้านการเกษตรท้องถิ่น สร้างมูลค่าเพิ่มด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม |
ในการพัฒนาโครงการได้มีการำนแนวคิดของนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์ (Eco Industrial Town) มาประยุกต์ใช้ในการออกแบบ โดยมีการจัดให้มีพื้นที่สีเขียวและพื้นที่แนวกันชนเชิงนิเวศ (Eco-Belt) รอบพื้นที่โครงการพัฒนา ทั้งยังมีการจัดสรรพื้นที่สีเขียวภายในนิคมอุตสาหกรรมมากถึง 20% จากข้อกำหนดที่มีเพียง 10% โดยการนำระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานทั้งหลายฝังลงดิน ไม่ว่าจะเป็นระบบไฟฟ้า ระบบน้ำ และเครือข่ายดิจิทัล เช่น 5G ทำให้สามารถบริหารจัดการพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการใช้สอยหรือภูมิทัศน์ที่สวยงาม โดยที่ยังคงไว้ซึ่งความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการใช้งานสูงสุดเช่นเดิม
ในเรื่องของ Circular Economy ที่เป็นประเด็นชูโรง คือ การนำ By Product ของโรงงานหนึ่ง ๆ ในนิคมฯ มาใช้เป็นวัตถุดิบหลักของอีกโรงงานหนึ่งได้ เพื่อเพิ่มมูลค่าสูงสุด ซึ่ง By Product เหล่านี้จะเป็นพืชผลทางการเกษตรเนื่องจากที่ตั้งนิคมฯ นั้นอยู่กึ่งกลางของประเทศและแวดล้อมไปด้วยทรัพยากรพืชผลทางการเกษตรที่มีคุณภาพอีกมากมาย ซึ่งทางนิคมฯ จะช่วยบริหารจัดการในเรื่อง By Product สำหรับการสื่อสาร เป็นตัวกลางในการกำจัดของเสียหรือ By Product ต่าง ๆ ซึ่งในปัจจุบันได้มีการพูดคุยเกี่ยวกับการแปรรูปข้าวเปลือกเพื่อผลิตเป็น Silica จากวัสดุชีวภาพอีกด้วย
สำหรับแนวคิดเรื่องนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์ นิคมฯ ได้ดำเนินการตามแนวคิดด้านความยั่งยืน โดยมีความต้องการสร้างนิคมอุตสาหกรรมการเกษตรเพื่อต่อยอดจากกลุ่มอุตสาหกรรมเดิมที่ล้อพูนผลเชี่ยวชาญอยู่แล้ว ซึ่งนิคมฯ เอื้อให้เกิดการหมุนเวียนทรัพยากรภายในไม่เพียงแต่ผลิตภัณฑ์ By Product เท่านั้นแต่ยังรวมถึงทรัพยากรอย่างพลังงานหรือน้ำด้วยเช่นกัน โดยในระยะแรกของการดำเนินการจะมีการใช้งานแผงพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับติดตั้งบนอาคาร และในระยะยาวได้มองถึงการผลิตไฟฟ้าเพื่อหมุนเวียนใช้เองจากชีวมวลอีกด้วย
เพื่อให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง นิคมฯ ได้จัดตั้งศูนย์วิจัยและศูนย์การเรียนรู้เพื่อสนับสนุนเกษตรกรนโดยรอบซึ่งถือว่าเป็นผู้ผลิตทรัพยากรต้นน้ำให้สามารถเติบโตไปด้วยกัน ด้วยการยกระดับคุณภาพของผลิตผลทางการเกษตรในพื้นที่ให้สอดรับกับความต้องการด้านคุณภาพของโรงงานในนิคมฯ ทำให้เกษตรกรในพื้นที่สามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้เพิ่มขึ้นและนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในเวลาเดียวกัน
ต้องยอมรับว่านิคมอุตสาหกรรมแอลพีพี นครสวรรค์นั้นเป็นนิคมอุตสาหกรรมใหม่ที่ต้องจับตาดูไว้ให้ดี ไม่ใช่เพราะการที่จะเป็นนิคมฯ สำหรับการเกษตรแห่งแรก แต่เพราะด้วยผลกระทบที่จะตามมาจากการยกระดับผลผลิตทางการเกษตรสู่อุตสาหกรรมอื่น ๆ ในฐานะหัวใจสำคัญของความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างวัตถุดิบใหม่ ๆ จากผลิตภัณฑ์หรือของเหลือใช้ทางการเกษตร ซึ่งสามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและจะกลายเป็นอาวุธสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมไทยอีกมากมายที่จะต้องเผชิญหน้ากับนโยบายด้านความยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการส่งออกและการลงทุนจากต่างชาติที่กำลังต้องการผสานเรื่องของนวัตกรรมและความยั่งยืน