FACT SHEET
งานแสดงเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติสำหรับการผลิตหนึ่งเดียวในพื้นที่ EEC เพื่อตอบสนองต่อความต้องการในการแข่งขันสำหรับการผลิตยุคปัจจุบัน โดยภายในงานประกอบไปด้วยพื้นที่แสดงสินค้าและเทคโนโลยีการผลิตยุคใหม่ พื้นที่สำหรับการอบรมสัมมนาในหัวข้อที่ทันสมัยใช้งานได้จริง การจับคู่ทางธุรกิจ และพื้นที่ไฮไลต์ที่จัดแสดงเทคโนโลยีและโซลูชันการผลิตที่ทันสมัย สัมผัสได้จริง
เมื่อโลกเกิดการแข่งขันในยุคการผลิตสมัยใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและเน้นการใช้งานเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มมูลค่าการผลิต ประเทศไทยในฐานะประเทศที่มีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นตลาดอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หรืออุตสาหกรรมแปรรูปต่าง ๆ จึงต้องเกิดการปรับตัวเพื่อให้สามารถแข่งขันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงมีมติเห็นชอบหลักการโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Development) เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2559 ให้เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียน เพื่อส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายให้เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) โดยดำเนินการใน 3 จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ตั้งเป้าพัฒนาพื้นที่ ทั้งทางกายภาพและทางสังคมเพื่อเป็นการยกระดับ ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเป็นการต่อยอดจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ Eastern Seaboard
EEC นั้นถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยแผนการพัฒนาพื้นที่ EEC ประกอบไปด้วย
1. แผนปฏิบัติการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน/โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล
2. แผนปฏิบัติการการพัฒนาเมืองใหม่และชุมชน
3. แผนปฏิบัติการการพัฒนาศูนย์กลางธุรกิจ และศูนย์กลางการเงิน
4. แผนปฏิบัติการการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย
5. แผนปฏิบัติการการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยว
6. แผนปฏิบัติการการพัฒนาบุคลากร การศึกษา การวิจัย และเทคโนโลยี
7. แผนปฏิบัติการการประชาสัมพันธ์และการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการกับประชาชน
8. แผนปฏิบัติการการเกษตร ชลประทาน และสิ่งแวดล้อม
อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่
ด้วยจุดเด่นด้านแรงงานที่มีทักษะด้านอุตสาหกรรมยานยนต์มาอย่างยาวนาน ในฐานะผู้ผลิตยานยนต์อันดับ 1 ของ ASEAN และอันดับ 11 ของโลก ในวันนี้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยพร้อมผลักดัน EV ให้เกิดขึ้นในประเทศด้วยนโยบายภาษี 0% เป็นระยะเวลา 3 ปีสำหรับการผลิต BEV
อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ได้กลายมาเป็นฟันเฟืองสำคัญในโลกยุคใหม่อย่างเต็มตัว โดยประเทศไทยถือเป็นผู้ผลิตและส่งออก HDD รายใหญ่ของโลกด้วยสัดส่วน 30% มีมูลค่าการส่งออกอุปกรณ์ไฟฟ้ากว่า 24.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้ากว่า 35.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ
ด้วยความหลากหลายทางชีวภาพในระดับสูงและโครงสร้างเศรษฐกิจดั้งเดิมมาจากการเกษตร ประเทศไทยมีพื้นที่การเพาะปลูกมากถึง 23.84 ล้านเฮกตาร์ เป็นผู้ส่งออกแป้งมันสำปะหลังอันดับ 1 ของโลก และส่งออกข้าวเป็นอันดับ 2 ของโลก
อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร
ด้วยผลผลิตทางการเกษตรที่สามารถผลิตได้ทั้งปี ประเทศไทยในฐานะครัวของโลกพร้อมผลักดันให้เกิดการแปรรูปอาหารเพื่อแข่งขันในตลาดโลก ด้วยการจัดตั้ง Food Innopolis เพื่อวิจัยและพัฒนาการแปรรูปอาหารอย่างเต็มรูปแบบ มีการลดหย่อนภาษี 300% สำหรับค่าใช้จ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนา โดยในปี 2563 มีรายได้จากอาหารและเครื่องดื่มรวม 393 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของประเทศไทยเกิดการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ภาครัฐจึงได้ผลักดันให้ประเทศไทยได้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ ซึ่งค่าใช้จ่ายการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของประเทศไทยนั้นมีมูลค่ากว่า 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีโรงพยาบาลมากกว่า 60 แห่งที่ผ่านมาตรฐานการรับรองสุขภาพระดับสากล
อุตสาหกรรมหุ่นยนต์
เมื่อหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติกลายเป็นกลไกสำคัญในการแข่งขันยุคปัจจุบัน ประเทศไทยจึงได้ปรับตัวตามสภาพการแข่งขัน โดยเร่งให้เกิดการเรียนรู้เกี่ยวกับการใช้งาน การพัฒนาหุ่นยนต์ และการซ่อมบำรุง โดยมีหุ่นยนต์เพิ่มขึ้นถึง 30% ในส่วนของการศึกษาและวิจัย และประเทศไทยอยู่ในอันดับ 10 จาก 63 ประเทศที่มีการใช้งานหุ่นยนต์จำนวนมาก
อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์
ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งมีผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ประกอบกิจการอยู่ และในพื้นที่ EEC นั้นมีสนามบินนานาชาติอู่ตะเภาที่ตั้งเป้าให้เป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค โดยประเทศไทยมีสนามบินเชิงพาณิชย์อยู่กว่า 38 แห่ง และมีศูนย์ฝึกการบิน 13 แห่ง
อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร
โรงพยาบาลในประเทศไทยนั้นได้รับมาตรฐาน JCI เป็นจำนวนมาก มีราคาที่เข้าถึงได้ และมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีการนำเข้าและส่งออกอุปกรณ์การแพทย์เป็นอันดับ 1 ของ ASEAN และมีระบบสุขภาพที่ดีที่สุดอันดับ 6 ของโลก
อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ
ด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและทรัพยากรธรรมชาติ ประเทศไทยจึงมีความพร้อมในการสนับสนุนและสร้างเศรษฐกิจสีเขียวให้เกิดขึ้นได้จริง กำหนดเป้าหมายการใช้ไบโอดีเซลที่ 14 ล้านลิตรต่อวันและไบโอเอทานอลที่ 11.3 ล้านลิตรต่อวัน ภายในปี พ.ศ. 2579 โดยปัจจุบันประเทศไทยมีความสามารถในการผลิต Polylactic Acid (PLA) สูงถึง 20,000 ตันต่อปี ปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพและพลาสติกชีวภาพอันดับ 1 ของ ASEAN
อุตสาหกรรมดิจิทัล
Ecosystem สำหรับดิจิทัลของประเทศไทยนั้นมีความพร้อมในระดับสูง โดย EEC ได้ผลักดันให้เกิด EECi หรือ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ตั้งเป้าพัฒนาและใช้งานเทคโนโลยีขั้นสูงด้วยการบูรณาการร่วมกันระหว่างภาครัฐ สถาบันการศึกษา และเอกชน
อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ
เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของกิจกรรมทางการทหารของประเทศไทย การวิจัย พัฒนาและการยกระดับประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีจึงเกิดขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม รถถัง ชุดเกราะ ยานพาหนะ โดรน อากาศยานไร้คนขับ หุ่นยนต์ทางการทหาร ระบบการสื่อสาร และอาวุธ โดยงบประมาณกระทรวงกลาโหมในปี 2563 มีมูลค่าสูงถึง 124.4 พันล้านบาท คิดเป็น 4% ของงบประมาณประเทศ มีงบประมาณกระทรวงกลาโหมสูงเป็นอันดับ 3 ของ ASEAN
อุตสาหกรรมการพัฒนาบุคลากรและการศึกษา
EEC ตั้งเป้าพัฒนาการศึกษาในระดับสูงโดยร่วมมือกับสถาบันจากต่างประเทศ อาทิ มหาวิทยาลัยอมตะ ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน (National Taiwan University) เปิดหลักสูตรสาขาวิศวกรรม Intelligent Manufacturing System โดยมุ่งเน้นการพัฒนาหุ่นยนต์ที่จะเข้ามาช่วยระบบการผลิตแบบอัตโนมัติ และอุตสาหกรรมยานยนต์ โปรแกรม CMU-Thailand เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน (Carnegie Mellon) และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL) เพื่อเปิดสอนหลักสูตรสารสนเทศและวิทยาการคอมพิวเตอร์ สถาบันเลส์โรชส์ (Les Roches) จากสวิตเซอร์แลนด์สถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงด้านการโรงแรมและการท่องเที่ยวระดับโลก เปิดสอนหลักสูตรสาขาการจัดการ โดยงบประมาณด้านการศึกษาในปี 2563 มีมูลค่ากว่า 47.89 แสนล้านบาท คาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าจะมีความต้องการแรงงานกว่า 4.7 แสนตำแหน่ง
จุดเด่นของ EEC นั้นนอกจากจะเป็นนโยบายลดภาษี และสนับสนุนด้านเงินทุน องค์ความรู้ต่าง ๆ แล้ว จุดแข็งที่สุดของพื้นที่นี้ คือ โครงสร้างพื้นฐานที่ครบครันต่อยอดมาจาก Eastern Seaboard ซึ่งมีความพร้อมในด้าน Logistics ทุกมิติ ไม่ว่าจะทางบก ทางน้ำ หรือทางอากาศ
นอกจากนี้พื้นที่ EEC ยังมองไกลไปถึงความยั่งยืนในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และความเป็นอยู่ โดยมีการจัดตั้งโครงการศึกษาการจัดการมลพิษทางอากาศในพื้นที่อุตสาหกรรมมาบตาพุด เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน การขยายท่าเรือแหลมฉบังในระยะที่ 3 ซึ่งจะมีการใช้ระบบออโตเมชันในการทำงาน รวมถึงโครงการท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 อีกด้วย
ในด้านระบบโครงสร้างพื้นฐานสำหรับดิจิทัล ได้มีการเปิดตัว EECd หรือ เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลในจังหวัดชลบุรี โดยมีการติดตั้งและพัฒนาเสาอัจฉริยะ, ASEAN Digital Hub, Advanced Big Data Cloud & Data Center, โครงสร้างพื้นฐาน IoT, ศูนย์ทดสอบ 5G เป็นต้น
อีกหนึ่งดาวเด่นของพื้นที่นี้ คือ EECi หรือ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ที่ตั้งเป้าสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมชั้นนำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ซึ่งผลงานวิจัยและนวัตกรรมนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและความอยู่ดีกินดีของประชาคมอย่างยั่งยืน โดยในพื้นที่นี้มีโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ได้แก่
1. เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน ระดับพลังงาน 3 GeV
เครื่องสำหรับงานวิจัยพัฒนาที่สามารถต่อยอดในการใช้งานได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการแพทย์ อาหารและการเกษตร อุตสาหกรรมวัสดุขั้นสูง ด้านสิ่งแวดล้อม และโบราณคดี เป็นต้น
2. โรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี
โรงงานต้นแบบที่เน้นใช้เทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานทางชีวภาพภายใต้เป้าประสงค์ที่หลากหลาย เพื่อพัฒนาและแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่มีพื้นฐานจากชีวภาพ
3. ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน
ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน หรือ Sustainable Manufacturing Center: SMC ภายใต้ EECi ARIPOLIS ตั้งเป้าพัฒนากระบวนการผลิตยุค 4.0 เพื่อให้แข่งขันได้ภายใต้สภาพตลาดที่ต้องการความยืดหยุ่นสูง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาบุคลากร, การจับคู่ทางธุรกิจ, ด้านสายการผลิตตัวอย่าง และ Testbed, ด้านการวิจัยและพัฒนาวิศวกรรม หรือด้านมาตรฐานและการบริการตรวจประเมินความพร้อมภาคการผลิต
4. พื้นที่ผ่อนปรนกฎระเบียบสำหรับการพัฒนานวัตกรรม
เป็นพื้นที่ที่มีกลไกสนับสนุนการทำนวัตกรรมของภาคอุตสาหกรรมได้อย่างคล่องตัว เรียกได้ว่าเป็นสนามทดลองและทดสอบเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีความปลอดภัย อนุโลมให้เกิดข้อผิดพลาดโดยไม่สร้างผลกระทบต่อส่วนอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อพัฒนาและทดสอบนวัตกรรมหรือการอนุญาตให้ทดสอบและพัฒนา UAV
5. โรงงานผลิตพืช
ส่วนหนึ่งของโครงการ EECi BIOPOLIS ที่เน้นไปในการทำความเข้าใจผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับพืชในเชิงลึก เช่น ช่วง Spectrum ของแสงที่จะทำให้ผักมีสัมผัสที่กรอบและรสชาติที่หวาน เป็นต้น
6. โรงเรือนเทคโนโลยี Phenomics
ทำการศึกษาเกี่ยวข้องกับ Phenomics เพื่อยกระดับพันธุ์พืชภายใต้การดูแลของ BIOPOLIS