Categories
Article

รู้จักเทคโนโลยีการผลิตยุค Next Normal เตรียมความพร้อมการผลิตแห่งอนาคต

โลกหลังจากการ Disruption ของเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติ พลังแห่งดิจิทัล และโควิด 19 นั้นไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีกต่อไป ยุคสมัยแห่ง New Normal เป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงกันอย่างไม่ขาดสาย แต่เมื่อเวลาผ่านพ้นไปอะไรที่ใหม่ก็กลายเป็นสิ่งเดิม เพื่อการเตรียมพร้อมรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้ประกอการและนักอุตสาหกรรมทั้งหลายต้องมองไปถึง Next Normal หรือความธรรมดาอะไรที่จะเกิดขึ้นเป็นบรรทัดฐานต่อไปในการทำงาน โดยเฉพาะสิ่งที่ต่อยอดออกมาจากเทคโนโลยีอย่างการผลิตอัตโนมัติ

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการ Disruption ของเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัตินั้นส่งผลต่อการวัดและประเมินคุณค่าในธุรกิจอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความโปร่งใสที่นำทางไปสู่ความแม่นยำในการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการคาดการณ์ตลาดล่วงหน้า การวางแผนการผลิต และการบริหารทรัพยากรที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด

และในขณะที่ภาคธุรกิจกำลังปรับตัวอยู่นั้น การ Disruption ระลอกใหม่อย่างการระบาดใหญ่ของโควิด 19 ก็เกิดขึ้นทั่วโลกในเวลาอันรวดเร็ว แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นอยู่ในส่วนของกำลังคนหรือแรงงานเป็นหลัก ซึ่งโรงงานที่กระบวนการต่าง ๆ นั้นถูกดำเนินการโดยมนุษย์หรือสิ่งมีชีวิตใด ๆ ก็จะกลายเป็นความเสี่ยงในการแพร่กระจายและติดเชื้อ การติดเชื้อที่เกิดขึ้นก็ไม่อาจรับประกันได้ว่าจะปนเปื้อนยังสินค้าหรืออุปกรณ์ด้วยไหม การผลิตต่าง ๆ จึงต้องหยุดชะงักลงเพื่อหาโซลูชันในการแก้ไขอย่างเหมาะสม

กลุ่มเทคโนโลยี Next Normal ต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง?

เพื่อให้สามารถรับมือกับความไม่แน่นอน การเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็ว และการขาดแคลนทักษะแรงงาน เทคโนโลยีระบบอัตโนมัติตลอดจนเทคโนโลยีดิจิทัลอื่น ๆ จึงเข้ามามีส่วนร่วม เราอาจจะคุ้นชินกับเทคโนโลยีอย่างหุ่นยนต์ เครื่องจักร เครื่องพิมพ์ 3 มิติ แต่เทคโนโลยีสำหรับการผลิตยุคต่อไปต้องการสิ่งที่มีความชัดเจนและมีความสามารถในการปรับตัวยิ่งกว่าที่เคยมีมา และสิ่งเหล่านี้ คือ กลุ่มเทคโนโลยีสำหรับยุค Next Normal เพื่อก้าวข้ามความท้าทายต่าง ๆที่กำลังจะมาถึงในอนาคต

Human Machine Collaboration Technology

เทคโนโลยีสำหรับผสานการทำงานร่วมกันระหว่างเครื่องจักรและมนุษย์จะเป็นสิ่งจำเป็นและสร้างผลลัพธ์ที่แตกต่างได้มากกว่าเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติเต็มรูปแบบสำหรับการผลิตที่จำกัดจำนวนและมีความจำเพาะเจาะจงสูง เทคโนโลยีอัตโนมัติเต็มรูปแบบอาจจะเหมาะสำหรับผลิตอุปกรณ์ที่มีรายละเอียดสูงเกินกว่าความสามารถของมนุษย์ หรือใช้ในการผลิตจำนวนมากที่ต้องการความต่อเนื่องไม่หยุดพัก แต่การผลิตสินค้าที่ไม่ได้มีจำนวนมากนักแต่มีรายละเอียดที่จำเพาะเจาะจงหรือมีการปรับแต่งพิเศษ (Customization) การทำงานร่วมกันระหว่างเครื่องจักรและมนุษย์จะสามารถเป็นคำตอบที่ต้องการได้

เทคโนโลยีที่ผสานการทำงานระหว่างเครื่องจักรและมนุษย์นั้นมีหลากหลายรูปแบบ ขอยกตัวอย่างเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นและเริ่มมีการใช้งานบางส่วนแล้ว ได้แก่ Cobot (Collaborative Robot) ที่เป็นหุ่นยนต์ซึ่งสามารถทำงานร่วมกับมนุษย์ได้อย่างปลอดภัย อุปกรณ์ควบคุมระยะไกลที่ใช้เทคโนโลยี AR (Augemented Reality) เช่น การใช้สมาร์ทโฟนหรือแท็บเบล็ตเพื่อดูสถานะการทำงานและปรับตั้งค่าต่าง ๆ หน้าเครื่อง หรือเทคโนโลยี Motion Sensor ที่ใช้งานร่วมกับหุ่นยนต์เพื่อทำงานระยะไกลเป็นต้น เทคโนโลยีเหล่านี้จะส่งต่อคุณค่าของมนุษย์ เช่น ทักษะการทำงาน ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัย ตลอดจนยกระดับประสิทธิภาพการทำงานด้วยในเวลาเดียวกัน

Real-time Enable Technology

เทคโนโลยีที่สนับสนุนให้เกิดการสื่อสารหรือโต้ตอบได้แบบ Real-time จะเป็นกุญแจสำคัญในการรับมือต่อความเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดคิดที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา คุณสมบัติของ Real-time ทำให้สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์หรือเหตุที่เกิดขึ้นได้จากระยะไกลในเวลาที่ทันท่วงทีไม่ต่างจากการออกคำสั่งที่หน้างาน การควบคุมและบริหารจัดการต่าง ๆ จึงเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว จึงสามารถเพิ่มระสิทธิภาพในการทำงานและลดความผิดพลาดหรือความเสียหายที่อาจขยายวงกว้างได้เป็นอย่างดี

เทคโนโลยี Real-time ที่เกิดขึ้นแล้วนั้นมีหลากหลายประเภท โดยเฉพาะเทคโนโลยีสำหรับการบริหารจัดการที่สามารถคาดการณ์และออกแบบการทำงานได้อย่างแม่นยำอย่าง Digital Twin ที่ประมวลผลข้อมูลทั้งหมดเพื่อแสดงให้เห็นการทำงานของระบบที่เกิดขึ้นจริงในทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งยังสามารถออกแบบการทำงานที่แตกต่างออกไปเพื่อพิจารณาแนวโน้มในการใช้งาน หรือเพื่อปรับเปลี่ยนแผนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการซ่อมบำรุง การปรับความเร็วในกระบวนการไปพร้อม ๆ กับการคาดการณ์การเสื่อมของชิ้นส่วน ซึ่งในกระบวนการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีอัตโนมัติที่มีความซับซ้อนและเงินทุนที่สูงความรวดเร็วในการตอบสนองต่อสถานการณ์ถือเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก นอกจากนี้เทคโนโลยีที่ใช้สนับสนุนการทำงานระยะไกล ไม่ว่าจะเป็นโดรนหรือแว่นแสดงผลภาพสำหรับการสนับสนุนทีมซ่อมบำรุงจากผู้เชี่ยวชาญภายนอกโดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมความเสี่ยงสูง ยิ่งจำเป็นต้องใช้คุณสมบัติการส่งข้อมูลและสื่อสารแบบ Real-time ซึ่งคุณสมบัติสำคัญของการสื่อสารข้อมูลรูปแบบนี้นั้นให้ความสำคัญกับความหน่วง (Latency) ที่น้อย ความเร็วในการส่งข้อมูลระดับสูง ตลอดจนโครงสร้างระบบที่รองรับปริมาณขนาดไฟล์ที่แตกต่างกัน ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีการสื่อสารแบบ 5G ที่สามารถปรับแต่โครงสร้างได้หลากหลายมิติเป็นตัวเลือกลำดับต้น ๆ ที่เข้าสู่แวดวงธุรกิจแล้ว และในอนาคตอีกไม่นานมาตรฐานการเชื่อมต่อ WiFi 6 ก็จะเริ่มมีการใช้งานจริงในวงกว้างเช่นกัน

Cyber-Physical System Technology

เทคโนโลยี Cyber-Physical System (CPS) หรือเทคโนโลยีระบบไซเบอร์-กายภาพนั้นเป็นระบบที่สามารถใช้เพื่อดำเนินการตัดสินใจและทำงานได้อย่างอิสระ ซึ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีเหล่านี้มักถูกใช้ในกิจกรรมกึ่งอัตโนมัติเสียมากกว่า และเทคโนโลยีอย่าง CPS นี้เองที่เป็นพื้นฐานสำหรับเทคโนโลยีที่ใช้คุณสมบัติการสื่อสารแบบ Real-time โดยเป็นการบูรณาการรวมกันของความสามารถในการประมวลผล ระบบเครือข่าย กระบวนการทางกายภาพเข้าด้วยกัน

เทคโนโลยีกลุ่ม CPS ที่เห็นได้ทั่วไปส่วนมากจะมีติดป้ายไว้ว่า Smart หรืออัจฉริยะ เช่น Smart Grid, Smart Manufacturing หรือ Smart Cities ซึ่งตัวอุปกรณ์เองจะอยู่ในกลุ่ม Internet of Things (IoT) หรือคอมพิวเตอร์แบบฝังตัว (Embedded Computer) ก็เป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีกลุ่มนี้ ข้อมูลที่เกิดขึ้นจริงระหว่างกระบวนการผลิตในเสี้ยววินาทีนั้นมีจำนวนมหาศาลซึ่งเทคโนโลยีหลุ่มนี้สามารถตั้งค่าและออกแบบการคัดกรองส่งต่อข้อมูล ทำให้รูปแบบของการใช้งานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นโดยไม่ต้องกังวลกับข้อมูลที่ไม่เขาเกณฑ์

Clean Technology (Zero-emission)

เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาดและมลพิษนั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหรือเป็นเทรนด์ใหม่แต่อย่างใด ด้วยปัญหาสภาพแวดล้อมโลกและสิ่งแวดล้อมที่กำลังขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก นานาประเทศได้ร่วมลงนามความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลดการตัดป่า ลดการใช้เชื้อเพลิง และลดการปลดปล่อยมลภาวะ ซึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วมข้อตกลงนี้บางส่วน เทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนจึงกลายเป็นอีกหนึ่งกลไกในการทำธุรกิจควบคู่ไปกับการดูแลรักษาโลก

เทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมนี้เกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นด้านพลังงาน การบำบัดมลภาวะต่าง ๆ ไปจนถึงสร้างความคุ้มค่าในการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเทคโนโลยีกลุ่มพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม รวมถึงการนำของเหลือจากการผลิตมาเปลี่ยนเป็นพลังงานเพื่อใช้ในโรงงาน เช่น Biomass ก็สามารถพบเห็นได้แล้วในปัจจุบัน สำหรับเทคโนโลยีในการบริหารจัดการพลังงานนั้น การใช้เทคโนโลยีกลุ่ม Real-time เพื่อ Monitoring ผ่านเซนเซอร์ต่าง ๆ จะทำให้สามารถวางแผนการใช้พลังงานได้อย่างแม่นยำ เช่น การใช้เทคโนโลยี CIP เพื่อทำความสะอาดท่อส่งเครื่องดื่มหรือผลิตภัณฑ์แปรรูปจากนมโดยควบคุมให้เกิดการใช้งานทรัพยากรได้อย่างเหมาะสม ไม่เกิดการใช้สารเคมีหรือน้ำร้อนเกินความจำเป็น ทั้งยังมีการเก็บข้อมูลในการทำงานอย่างละเอียดอีกด้วย และในส่วนของเทคโนโลยีบำบัดมลภาวะ ไม่ว่าจะเป็นการกรอง การเผาไหม้ที่หมดจด หรือการนำของเหลือจากกระบวนการผลิตมาใช้ใหม่จะเป็นการลดมลภาวะที่จะเกิดกับสิ่งแวดล้อมและลดผลกระทบที่จะเกิดกับผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่เองอีกด้วย

ผู้ประกอบการจะเลือกใช้เทคโนโลยี Next Normal อย่างไรดี?

เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเทคโนโลยีนั้นกลายเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานยุคปัจจุบันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และในเวลาเดีวกันก็ต้องยอมรับว่า ‘ต้นทุน’ สำหรับเทคโนโลยีเหล่านี้ก็มีราคาที่สูงไม่แพ้ศักยภาพที่ตามมา ดังนั้นการเริ่มต้นใช้งานให้เหมาะสมจำเป็นจะต้องมีความเข้าใจเงื่อนไขและความต้องการสำหรับการผลิตของตัวเองเสียก่อน

การมองหาความไม่ชัดเจน หรือ ปัญหาที่กระทบต่อสายการผลิตอย่างชัดเจนนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เช่น การที่ผู้ประกอบการต้องทำความสะอาดท่อลำเลียงเครื่องดื่มโดยใช้ทรัพยากรจำนวนมากโดยไม่สามารถตรวจวัดได้ว่าสร้างความสะอาดที่เป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่และมีการใช้ทรัพยากรที่เหมาะสมกับกระบวนการหรือเปล่า ขั้นตอนนี้สามารถสร้างความโปร่งใสและความชัดเจนได้ด้วยการติดตั้งเทคโนโลยีสำหรับ CIP โดยเฉพาะเพื่อทำการประเมินและดำเนินการอย่างถูกต้อง หรือในกรณีที่ไม่สามารถประเมินรายละเอียดของเวลาในระหว่างกระบวนการได้ การนำหุ่นยนต์หรือระบบอัตโนมัติมาใช้ในกระบวนการผลิตจะทำให้สามารถประเมินและบริหารจัดการได้อย่างแม่นยำ ดังนั้นการกำหนดปัญหาและลำดับความสำคัญหรือความเร่งด่วนเพื่อเลือกปรับปรุงกระบวนการนั้น ๆ จึงเป็นขั้นแรกในการเลือกใช้เทคโนโลยี

เมื่อกำหนดปัญหาหรือเป้าหมายได้แล้วจึงพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้อง โดยในเบื้องต้นแนะนำให้แบ่งกลุ่มในการเลือกใช้เทคโนโลยีตามรูปแบบปัญหาที่เกิดขึ้น ดังนี้

1. การบริหารจัดการ – ความสามารถในการบริหารจัดการต่าง ๆ นั้นหมายรวมถึงการรีดเด้นประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรทั้งหมดให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด ปัญหาที่พบได้บ่อยในการบริหารจัดการ คือ การที่ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่สำคัญหรือไม่อาจเข้าถึงข้อมูลได้ครบถ้วน ทำให้การบริหารจัดการไม่อาจเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ การแก้ปัญหาจึงจำเป็นต้องสร้างความโปร่งใสในระบบที่เกี่ยวข้องและต่อยอดด้วยเทคโนโลยีสำหรับการวิเคราะห์และจัดการข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ

2. กระบวนการ/การดำเนินงาน – กลุ่มของกระบวนการและการดำเนินงานนั้นเป็นกิจกรรมที่ให้ความสำคัญกับกิจกรรมด้านกายภาพที่เกิดขึ้นเป็นสำคัญ โดยกิจกรรมหลักจะเน้นไปที่การใช้แรงหรือการปฏิสัมพันธ์ของวัตถุในโลกกายภาพซึ่งต้องถูกต่อยอดด้วยการบริหารจัดการด้านข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ

ในกรณีขององค์กรขนาดกลางหรือขนาดใหญ่มักเจอกับปัญหาที่ไม่อาจระบุต้นตอได้อย่างชัดเจน การลงทุนกับเทคโนโลยีอย่าง CPS เพื่อทำให้การบรหารจัดการเกิดประสิทธิภาพจากความโปร่งใสอาจเป็นขั้นตอนแรกที่น่าสนใจ การสร้างความโปร่งใสจะทำให้มองเห็นปัญหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกันและดำเนินการได้อย่างถูกประเด็นมากยิ่งขึ้น ในกรณีของบริษัทขนาดใหญ่หรือมีพันธะผูกพันกับนโยบายด้านความยั่งยืน เทคโนโลยีที่สนับสนุนให้เกิดการลดมลภาวะหรือเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมก็จะเป็นตัวชี้วัดสำคัญในการเติบโต ไม่ว่าจะเป็นการใช้พลังงานสะอาด ปริมาณมลภาวะที่ปลดปล่อย

สำหรับธุรกิจขนาดเล็กหรือขนาดกลางที่ใช้แรงงานดำเนินการมากกว่าเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีอัตโนมัติ การลงทุนในเทคโนโลยีที่ใช้สนับสนุนแรงงานมีแนวโน้มที่จะสร้างความคุ้มค่าและความคล่องตัวในการดำเนินการต่าง ๆ ได้มากกว่า เช่น การใช้งาน Cobot คู่กับแรงงานจะเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตขณะที่ยังคงรักษาความยืดหยุ่นที่ขึ้นอยู่กับทักษะของแรงงานเอาไว้ได้ การใช้เทคโนโลยีสวมใส่ เช่น แว่นตา AR จะช่วยสนับสนุนในการประกอบชิ้นงานหรือการซ่อมบำรุงจากระยะไกลแบบ Real-time ได้ ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งขั้นตอนการฝึกฝนและการทำงานจริงเป็นต้น เทคโนโลยีเหล่านี้นอกจากจะเพิ่มความคล่องตัวและประสิทธิภาพในการทำงานแล้ว ยังสนับสนุนให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้นกับผู้ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่อีกด้วย

อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะธุรกิจขนาดใหญ่ กลาง หรือเล็ก หากต้องการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยียุค Next Normal แล้วล่ะก็ การให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การเชื่อมต่อที่มีคุณภาพ ความปลอดภัยของระบบเครือข่าย รวมถึงทักษะดิจิทัลพื้นฐานสำหรับผู้ใช้งานก็นับเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเกิดขึ้นให้ได้ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจใด ๆ ก็ตาม เพื่อให้เกิดการใช้งานที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพโดยที่เทคโนโลยีที่นำเข้ามานั้นไม่ได้กลายเป็นปัญหาให้กับการทำงานเสียเอง