Categories
Article

Smart Human จุดเริ่มต้นโรงงานอัจฉริยะที่ใครหลายคนมองข้าม

การทำ Digital Transformation หรือการลงทุนระบบอัตโนมัติที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้นอาจไม่ได้ประสบความสำเร็จในทุกกรณีที่เกิดขึ้นเสมอไป หนึ่งในความท้าทายสำคัญนอกจากเม็ดเงินลงทุนแล้ว ประเด็นเรื่องของความพร้อมจากด้านแรงงานหรือผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มักถูกมองข้าม ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วปัญหาด้าน Talent แรงงานสูงวัย ตลอดจนความไม่เข้าใจที่เกิดขึ้นต่อการเปลี่ยนแปลงของแรงงานเป็นเสมือนกับสวิตช์สำคัญที่จะเปิดทางให้กับความสามารถในการแข่งขัน

ทำไม Digital Transformation ในโรงงานถึงล้มเหลว

ภายใต้การแข่งขันของอุตสาหกรรมสมัยใหม่ต้องยอมรับว่าการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นส่วนสำคัญอย่างมากในการแข่งขัน ไม่ว่าจะในมิติของการลดต้นทุน การประเมินผลที่ชัดเจน การเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงาน ตลอดจนความโปร่งใสและการตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับ

แต่การทำ Digital Transformation กลับไม่ใช่เรื่องง่ายที่สามารถเกิดขึ้นได้ในพริบตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจการผลิตที่มีการลงทุนจำนวนมหาศาลและมีการดำเนินการมาอย่างยาวนาน ทำให้หลายครั้งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกลายเป็นความล้มเหลวตั้งแต่เริ่มต้น และมีอีกไม่น้อยที่กลายเป็นปัญหาขาดสภาพคล่องต่าง ๆ โดยความท้าทายที่พบได้บ่อยมีดังนี้

  1. ต้นทุนและ ROI เม็ดเงินการลงทุนเป็นปัญหาแรกที่เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นสัดส่วนขนาดใดก็ตาม ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับระยะเวลาคืนทุนด้วยเช่นกัน
  2. เทคโนโลยีดั้งเดิมและโครงสร้างพื้นฐาน โรงงานที่ใช้เทคโนโลยีเก่าหรือตกยุคมักจะพบความท้าทายในการบูรณาการเข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่มากเป็นพิเศษ ซึ่งความพยายามอัปเดตหรือทดแทนอาจนำมาซึ่งต้นทุนราคาสูงหรือปัญหาที่จบได้ยาก
  3. คุณภาพและการบริหารจัดการข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นการเก็บข้อมูล การดูแลข้อมูล ตลอดจนการบริหารข้อมูลจากหลายแหล่งที่มาเป็นสิ่งที่มีปริมาณมหาศาล ในขณะเดียวกันการดูแลคุณภาพข้อมูล ความปลอดภัย และการทำตามข้อบังคับกลับเป็นประเด็นสำคัญซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสิ่งที่มีความยากในระดับสูง
  4. Cybersecurity ในโลกแห่งการเชื่อมต่อนี้ การโจมตีผ่านระบบเครือข่ายเพิ่มมากยิ่งขึ้นและส่งผลกระทบโดยตรงทั้ง IT และ OT ของโรงงาน
  5. ช่องว่างของทักษะ เป็นปัญหาที่เกิดจากการขาดแคลนแรงงานที่รวมถึงการขาดแคลนทักษะที่จำเป็นด้านดิจิทัลสำหรับโรงงาน
  6. การต่อต้านการเปลี่ยนแปลง แรงงานและผู้เกี่ยวข้องอาจมีอาการแข็งขืนยื้อยุดสำหรับการเปลี่ยนสิ่งใหม่เข้ามา หรือแม้แต่การเปลี่ยน Workflow ก็ตาม นับเป็นความท้าทายของวัฒนธรรมองค์กรอีกหนึ่งประเด็น
  7. การทำงานร่วมกันของเทคโนโลยี การบูรณาการเทคโนโลยีและระบบที่หลากหลายนั้นเป็นสิ่งที่มีความท้าทายสูงอย่างมาก เพราะอาจเกิด Bug หรือไม่อาจทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  8. ข้อบังคับและข้อกำหนด โรงงานอุตสาหกรรมมักมีข้อบังคับที่รัดกุมซึ่งเกี่ยวข้องกับความปลอดภัย ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และความเป็นส่วนตัวของข้อมูล การวางแนวนโยบายด้านดิจิทัลซึ่งเรียกว่าเป็นสิ่งที่ใหม่มากสำหรับประเทศไทยอาจทำให้เกิดความซับซ้อนได้ไม่น้อย
  9. Scalability ความสามารถในการขยับขยายต่อยอดของโซลูชันดิจิทัลเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มที่มีต้องเติบโตควบคู่ไปกับองค์กรและความต้องการในการแข่งขัน
  10. ความเป็นส่วนตัวและจริยธรรมด้านข้อมูล การเก็บข้อมูลจำนวนมหาศาลที่เกิดขึ้นในโรงงานนำไปสู่คำถามเกี่ยวกับจริยธรรมในสิ่งที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการใช้งาน การแบ่งปัน การป้องกันข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมุมของความเป็นส่วนตัวสำหรับลูกค้าหรือลูกจ้าง

แม้ความท้าทายส่วนใหญ่ของการทำ Digital Transformation ในโรงงานจะอยู่ในช่วงการบูรณาการระบบและการบริหารจัดการเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามได้เลย คือ การต่อต้านจากแรงงานและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

แรงงาน ‘แรงต้าน’ สำคัญในการเปลี่ยนแปลง

การทำ Digital Transformation สำหรับโรงงานอัจฉริยะจะไม่สามารถเกิดขึ้นหรือเป็นจริงได้เลยหากแรงงานและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนั้นไม่ให้ความร่วมมือ หนึ่งในกรณีที่เกิดขึ้นจริง คือ โรงงานที่มีการลงทุนบางส่วนในระบบอัตโนมัติหรือเทคโนโลยีใหม่ไปแล้วกลับไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเหมือนที่คาดการณ์ไว้ สาเหตุสำคัญมาจากแรงงานนั้นไม่ให้ความร่วมมือในการรับเอาเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ นำไปสู่การขาดทุนและส่งผลต่อสภาพคล่องที่เกิดขึ้น

การที่แรงงานนั้นไม่ให้ความร่วมมือในการเปลี่ยนแปลงเรียกได้ว่าเป็นการปิดประตูในการแข่งขันอย่างแท้จริง เมื่อแรงงานและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไม่ให้ความร่วมมือ แม้จะมีการลงทุนไปแล้วแต่เมื่อเกิดปัญหาการใช้งานขึ้นก็ไม่อาจแก้ไขปัญหาได้โดยง่าย แม้จะมีแนวทางหรือโซลูชันให้ดำเนินการแต่ปัญหาอาจจะไม่ได้รับการแก้ไขที่ถูกต้อง ในท้ายที่สุดเทคโนโลยีอาจกลายเป็นฝ่ายถูกกล่าวโทษในความล้มเหลวและไร้ประสิทธิภาพโดยไม่อาจวัดผลที่แท้จริงได้

สร้าง Smart Human กระดุมเม็ดแรกของการเปลี่ยนแปลงที่มักถูกมองข้าม

เพื่อแก้ไขปัญหาตั้งแต่ระดับพื้นฐานของ Digital Transformation การให้ความสำคัญกับแรงงานที่อยู่ในองค์กรจึงเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการดึงดูดแรงงานที่มีทักษะเข้ามาในองค์กร การ Reskill และ Upskill ตลอดจนการรักษาแรงงานที่มีความสามารถให้อยู่ต่อไปในองค์กรล้วนเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ธุรกิจสามารถรักษาแรงงานที่มีศักยภาพเอาไว้ได้

ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเรื่องของแรงงานมักเป็นเรื่องที่ถูกมองข้ามหรือถูกพิจารณาไม่ได้รอบด้านนัก เช่น หากองค์กรต้องการให้เกิด Smart Human ขึ้นการลงทุนกับแรงงานเพียงคนเดียวอาจไม่ใช่ความคิดที่ดีเท่าไรนัก เมื่อสภาพแวดล้อมยังคงเหมือนเดิม ในกรณีเลวร้ายที่สุดอาจทำให้แรงงานโยกย้ายองค์กรเมื่อเติบโตไปถึงระดับหนึ่งแล้วก็เป็นได้ ดังนั้นการสร้าง Smart Human ในโรงงานอุตสาหกรรมต้องมองถึงระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสังคมในองค์กร วัฒนธรรมองค์กร ตลอดจนทัศนคติและระบบขององค์กรเอง เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่มุมมองความคิด ค่านิยม ทักษะความสามารถที่สอดรับกับเทคโนโลยีและการแข่งขันในท้ายที่สุด

โดยแนวคิดสำหรับการทำงานยุคใหม่อย่าง Human-Centric Work Design เป็นกุญแจสำคัญที่สร้างพื้นที่ให้ Smart Human ในการผลิตได้ โดยการสร้างสภาพแวดล้อมที่ให้ความสำคัญกับมนุษย์เป็นศูนย์กลางนั้น Gartner ผู้เชี่ยวชาญด้านการให้คำปรึกษากับภาคธุรกิจได้เปิดเผยข้อมูลว่าแนวคิดนี้สามารถลดความเหนื่อยล้าระหว่างแรงงานได้ถึง 3.1 เท่า ทำให้แรงงานอยากอยู่กับองค์กรต่อไปอีก 3.2 เท่า และมีประสิทธิภาพการทำงานสูงขึ้น 3.8 เท่า ในขณะที่แรงงานกว่า 82% ลงความเห็นว่าการที่องค์กรมองเห็นพวกเขาในฐานะบุคคลไม่ใช่เพียงลูกจ้างนั้นเป็นสิ่งสำคัญ และ 98% ของผู้นำด้านทรัพยากรมนุษย์นั้นมีความกังวลเกี่ยวกับความเป็นอยู่ที่ดีของแรงงานในปัจจุบันมากกว่าก่อนเกิดการระบาดครั้งใหญ่

ในกรณีของโรงงานอุตสาหกรรมหรือสายการผลิต การสร้าง Human-Centric Work Design อาจเป็นสิ่งที่หลายคนยังไม่เห็นภาพนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วมีเอกสารที่ศึกษาวิจัยในประเด็นนี้ในชื่อ ‘Human-centered factories from theory to industrial practice. Lessons learned and recommendations.’ และ ‘A Human-Centered Assembly Workplace for Industry: Challenges and Lessons Learned’ ซึ่งเป็นการใช้งานเทคโนโลยีเพื่อยกระดับความสามารถการทำงานโดยมีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง ยกตัวอย่างเช่น สถานีประกอบชิ้นส่วนที่มีระบบกล้องคอยให้คำแนะนำในการประกอบและตรวจสอบความถูกต้อง ในขณะที่มีหุ่นยนต์ Cobot ในการสนับสนุนการทำงานอื่น ๆ อีกด้วยเช่นกัน การออกแบบสถานที่ปฏิบัติงานนี้ช่วยให้แรงงานตระหนักได้ถึงความสำคัญและคุณค่าของตัวเองในองค์กรได้ โดยมีพื้นฐานจากการใช้จุดเด่นด้านความคิดสร้างสรรค์และความสามารถในการตัดสินใจของมนุษย์ผสานกับความสามารถด้านความแม่นยำ กำลัง และการทำงานต่อเนื่องที่เป็นสิ่งแปรผันของมนุษย์

นอกเหนือจาก Human-Centric Approach และการพัฒนาทักษะพื้นฐานสำหรับการผลิตยุคดิจิทัลแล้ว กระบวนการอย่างการมีส่วนร่วมในขั้นตอนการเปลี่ยนแปลง มีส่วนในการตัดสินใจก็เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้แรงงานได้รับความรู้สึกของการถูกยอมรับและเป็นส่วนหนึ่งของอนาคตที่กำลังมาถึงซึ่งจะช่วยคลายความกังวลในการถูกทดแทนงานได้ รวมถึงการสื่อสารและการให้ความรู้จากตัวองค์กรเองก็สามารถช่วยลดการต้านทานที่เกิดขึ้นซึ่งส่วนใหญ่จะมาจากความไม่รู้และความเข้าใจผิด

หากธุรกิจการผลิตหรือโรงงานอุตสาหกรรมต้องการทำ Digital Transformation ตลอดจนการลงทุนระบบอัตโนมัติ และเทคโนโลยีต่าง ๆ สิ่งแรกที่ต้องเกิดขึ้น คือ การสำรวจความพร้อมของแรงงาน พร้อมด้วยการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร และส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งจะทำให้องค์กรมีความยืดหยุ่นพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในการแข่งขันและเติบโตได้อย่างยั่งยืน