Categories
Article Automation

3 เทรนด์ที่ต้องจับตามองของระบบอัตโนมัติปี 2023

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ระบบอัตโนมัติได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานในภาคอุตสาหกรรมไปแล้วอย่างแนบแน่น หลายบริษัทต่างก็นำเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาปรับใช้ในโรงงานเพิ่มขึ้นทุกวัน หากธุรกิจใดต้องการจะก้าวหน้า ก็ต้องมีการติดตามเทรนด์ของระบบเหล่านี้อยู่เสมอ

ในโอกาสที่ปีใหม่พึ่งผ่านพ้นไปไม่นาน วันนี้พวกเราจึงได้มัดรวมเอา 3 เทรนด์ของระบบอัตโนมัติที่น่าสนใจในปี 2023 นี้มาให้ทุกท่านได้อ่านและเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในปีนี้กัน

ระบบอัตโนมัติ อนาคตของธุรกิจและอุตสาหกรรมทั่วโลก

นับตั้งแต่การเข้ามาของระบบอัตโนมัติในอุตสาหกรรมการผลิตตั้งแต่ในช่วงปี 1900 นั้น ระบบอัตโนมัติได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของโลกเราในการทำงานมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นในภาคธุรกิจทั่วไป ในอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ หรือแม้แต่ในชีวิตประจำวันใกล้ตัวผู้คนทั่วไป ซึ่งภายในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้น แม้ว่าทั่วโลกจะต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 แต่ตลาดของเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติทั่วโลกกลับมีการเติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่อง

ดังนั้นหากจะบอกว่าระบบอัตโนมัติได้กลายมาเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่เข้ามากำหนดทิศทางของภาคอุตสาหกรรมแล้วก็คงจะไม่ผิดนัก ผู้ประกอบการยุคใหม่ต่างก็ต้องคอยปรับตัวและคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นอยู่เสมอ สำหรับเทรนด์ที่เราคัดเลือกมาในวันนี้จะมีอะไรบ้าง มาดูกันครับ

1. Collaborative Robot (Cobot)

หากเราพูดถึงการใช้งานระบบอัตโนมัติในอุตสาหกรรมการผลิตแล้วละก็ แน่นอนครับว่าสิ่งแรก ๆ ที่ทุกคนต้องนึกถึงคงจะหนีไม่พ้นหุ่นยนต์แขนกลต่าง ๆ ที่สามารถช่วยทุ่นแรงมนุษย์ในการหยิบจับและประกอบชิ้นส่วนต่าง ๆ ได้อย่างแน่นอน แต่หนึ่งในเทรนด์ที่น่าสนใจที่เราจะยกมาพูดถึงในวันนี้ไม่ใช่แค่หุ่นยนต์ธรรมดาทั่วไป แต่เป็นหุ่นยนต์ที่ได้รับการออกแบบมาให้สามารถทำงานร่วมกับมนุษย์ได้อย่างปลอดภัย หรือ ‘Collaborative Robot’ นั่นเอง

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานั้น หุ่นยนต์ Cobot ได้เริ่มได้รับความสนใจจากผู้ผลิตและผู้ประกอบการหลายแห่งมากขึ้นอย่างท่วมท้น ด้วยระบบที่ป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นต่อพนักงานใกล้ ๆ นั้น ทำให้การใช้งาน Cobot ไม่ได้จำเป็นที่จะต้องติดตั้งรั้วป้องกันรอบ ๆ เหมือนหุ่นยนต์โรบอทขนาดใหญ่ทั่วไป ทำให้สามารถประหยัดพื้นที่ในการทำงานขึ้นได้เป็นอย่างมาก อีกทั้ง Cobot ยังสามารถนำมาประยุกต์รวมเข้ากับเทคโนโลยีอื่น ๆ ได้อย่างง่ายดายอีกด้วย เช่นระบบ Random Bin Picking ที่มีการใช้ระบบ Machine Vision มาทำงานร่วมกับ Cobot ในการหยิบจับ Pick and Place วัตถุต่าง ๆ ได้อย่างแม่นยำ

ด้วยความปลอดภัยและการออกแบบที่คำนึงถึงความยืดหยุ่นและความง่ายในการใช้งาน ทำให้หุ่นยนต์ Cobot ในปัจจุบันนั้นได้เริ่มนิยมนำมาใช้ควบคู่กับมนุษย์ในสายการผลิตมากมายไม่ว่าจะเป็นการผลิตชิ้นงานขนาดใหญ่อย่างการประกอบรถยนต์ การบรรจุสินค้า หรือแม้แต่ในการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กเช่น Smart Watch ก็ได้เช่นกัน ซึ่งได้มีการคาดการณ์ว่าตลาดของหุ่นยนต์ Cobot นั้นจะมีการเติบโตขึ้นจากมูลค่า 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2022 ขึ้นสูงถึง 9.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2028 และจะเข้ามามีบทบาทได้ทั้งในบริษัทขนาดใหญ่ ไปจนถึงบริษัทระดับ SMEs

ที่มาภาพและข้อมูล : MarketsandMarkets

นอกจากนี้ยังได้มีการคาดการณ์เอาไว้อีกด้วยว่าภายในปี 2027 นั้น จำนวนการใช้งานของหุ่นยนต์ Cobot จะมีมากถึง 30% ของจำนวนการใช้งานหุ่นยนต์ทั้งหมดในโลก นั่นหมายความว่าในอนาคตเราคงจะได้เห็นหุ่นยนต์ Cobot เข้ามาทำงานควบคู่ไปกับหุ่นยนต์โรบอทและมนุษย์มากขึ้นอย่างแน่นอน

ข้อแนะนำก่อนตัดสินใจใช้ Cobot

สำหรับในประเทศไทยของเราเองก็มีการใช้งานหุ่นยนต์ Cobot ที่เพิ่มมากขึ้นทั้งในการผลิต การส่งต่อและการคัดแยกชิ้นงาน ถ้าหากสายการผลิตของคุณมีงานที่ต้องทำซ้ำ ๆ อย่างต่อเนื่องแต่ไม่ซับซ้อน หรือมีความอันตรายและไม่ควรนำพนักงานเข้ามาเสี่ยงภัย Cobot ก็สามารถเข้ามาตอบโจทย์จุดเหล่านี้และร่วมทำงานกับมนุษย์ได้อย่างลงตัว และสำหรับผู้ประกอบการในไทยที่สนใจอยากจะเริ่มลงทุนเอา Cobot เข้ามาใช้ในสายการผลิตของตนก็อย่าลืมตรวจสอบความต้องการใช้งานของตนเองให้ชัดเจน และเลือกใช้ Cobot ตามรูปแบบความต้องการที่เหมาะสมของตนเอง ปัจจัยต่าง ๆ ที่ไม่ควรมองข้ามในการเลือกซื้อก็มีทั้งระยะในการหยิบจับชิ้นงานของ Cobot ขนาดและน้ำหนักของชิ้นงานที่ผลิต หรือแม้แต่สภาพแวดล้อมที่จะทำการติดตั้งหุ่นยนต์เอาไว้ ซึ่งประเทศไทยของเราก็มีบริษัทที่ขึ้นชื่อด้านหุ่นยนต์อุตสาหกรรมในระดับชั้นนำอยู่มากมายไม่ว่าจะเป็น ABB, Fanuc หรือ Mitsubishi Electric ที่พร้อมให้คำแนะนำกับผู้ที่สนใจได้ตลอดเวลา

2. Robotic Process Automation (RPA)

RPA เป็นระบบโรบอท IT Solution ที่ใช้การเลียนแบบและเรียนรู้พฤติกรรมการทำงานของมนุษย์ และสามารถเข้ามาทดแทนการทำงานแบบซ้ำ ๆ หรืองานที่ต้องใช้เวลานานให้กลายเป็นระบบอัตโนมัติได้ ด้วยการสร้างขั้นตอนและกระบวนการต่าง ๆ ในการทำงานของระบบ RPA ทำให้การทำงานสามารถเกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง และยังช่วยลดโอกาสผิดพลาดจากการทำงานลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาก็ทำให้ผู้ประกอบการหลายแห่งเริ่มให้ความสนใจกับระบบ RPA มากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะระบบซอฟต์แวร์เหล่านี้สามารถเข้ามาช่วยทดแทนการทำงานของมนุษย์ที่มีข้อจำกัดมากขึ้นจากมาตรการป้องกันต่าง ๆ ในช่วงที่เกิดการระบาดขึ้นนั่นเอง

ปัจจุบันระบบ RPA นั้นสามารถเข้ามาช่วยย่นระยะเวลาที่ต้องใช้ในการจัดการเอกสาร, การจัดการคลังสินค้า, การจัดการข้อมูลด้านบัญชีและการเงิน ไปจนถึงการวิเคราะห์ ตรวจสอบ และรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ และยังมีระบบซอฟต์แวร์ให้เลือกใช้มากมายจากหลายผู้ให้บริการ ตัวอย่างเช่น UiPath, Microsoft Power Automate หรือ Automation Anywhere

ที่มาภาพ : Image by Freepik

โดยข้อมูลจากเว็บไซต์ Fortune Business Insights ได้ระบุว่าสำหรับในปี 2022 นั้นตลาดของระบบ RPA มีมูลค่าอยู่ที่ 7.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และได้มีการคาดการณ์เอาไว้อีกด้วยว่าในช่วงปีถัดไปนี้ตลาดของระบบ RPA จะเติบโตขึ้นไปเกิน 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และจะเพิ่มไปสูงถึง 4.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯเลยทีเดียว

สำหรับบทบาทของระบบ RPA ในภาคอุตสาหกรรมนั้น ระบบ RPA ก็สามารถเข้ามาช่วยได้ทั้งในการตรวจสอบและจัดการคลังสินค้า การบริหารจัดการ Supply chain และยังช่วยเสริมความเร็วการผลิตในแต่ละวันขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งการใช้ระบบ RPA ยังสามารถเห็นผลลัพธ์จากการลงทุน (ROI) ได้ภายในไม่กี่อาทิตย์เท่านั้นอีกด้วย อีกทั้งในปัจจุบันยังมีผู้ให้บริการอีกจำนวนมากที่ได้เริ่มนำเอาเทคโนโลยีอย่างระบบ AI, Machine Learning และ Cloud ในการเข้ามาพัฒนาความสามารถของระบบ RPA ให้สูงขึ้นไปอีกเพื่อตอบโจทย์ความต้องการใหม่ ๆ ที่เพิ่มขึ้นในหลาย ๆ ธุรกิจ ซึ่งจะทำให้ขอบเขตความสามารถของระบบ RPA สามารถนำไปใช้ปรับรูปแบบการทำงานให้หลาย ๆ ธุรกิจสามารถเปลี่ยนเข้าสู่ยุคของการทำงานแบบดิจิทัลได้จริง

ข้อแนะนำก่อนตัดสินใจใช้ RPA

สำหรับใครที่กำลังอยากจะนำระบบ RPA เข้ามาใช้จัดการข้อมูลในบริษัทของตัวเองก็สามารถทำได้ทั้งผ่านผู้ให้บริการภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในการ Implement ระบบให้เข้ากับความต้องการของธุรกิจได้ หรือจะทำการศึกษาและพัฒนาระบบขึ้นด้วยตัวเองผ่าน Tool ต่าง ๆ ที่เราได้แนะนำไปข้างต้น (UiPath, Microsoft Power Automate เป็นต้น) ก็ทำได้ นั่นเพราะ Tool เหล่านี้ได้รับการออกแบบมาให้แม้แต่ผู้ที่ไม่มีความรู้ด้านการ Programming ก็สามารถทำได้นั่นเอง แต่อย่างไรก็อย่าลืมศึกษาความต้องการและความเหมาะสมของประเภทงานที่ต้องการจะนำระบบมาประยุกต์ใช้ให้ดีกันนะครับ

3. Artificial Intelligence (AI)

และถ้าหากว่าเราพูดถึงระบบอัตโนมัติอยู่แล้วละก็ อีกหนึ่งในระบบที่มีการเติบโตและเข้ามามีบทบาทสำคัญในทุก ๆ ธุรกิจมากที่สุดในโลกก็คงจะหนีไม่พ้นระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI) อย่างแน่นอน

ด้วยความเป็นไปได้อันหลากหลายทำให้ AI ในปัจจุบันสามารถก้าวเข้ามามีบทบาทในธุรกิจและอุตสาหกรรมทั่วโลกได้ ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลแบบเฉพาะทาง หรือการคาดเดาและป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น หรือแม้แต่การใช้ AI เข้ามาช่วยสร้างสรรค์ออกแบบชิ้นงานหรือผลิตภัณฑ์ขึ้นก็เป็นสิ่งที่เริ่มพบเห็นได้มากขึ้นเรื่อย ๆ

และจากข้อมูลของ Capgemini research institute ที่ได้รวบรวมข้อมูลการใช้งานระบบ AI ในอุตสาหกรรมการผลิตมานั้น ยังได้ระบุว่าปัจจุบันเหล่าบริษัทผู้ผลิตชื่อดังในทวีปยุโรปกว่าครึ่งหนึ่งนั้นได้มีการนำระบบ AI อย่างน้อย 1 รูปแบบเข้ามาทำงานร่วมในการผลิต และสำหรับ 3 เคสของการใช้งาน AI ที่นิยมที่สุดสำหรับผู้ผลิตนั้น ก็ได้แก่

3.1 Intelligent Maintenance

ด้วยความสามารถในการรวบรวม วิเคราะห์และประมวลผล ทำให้ AI สามารถทำการคาดเดาปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ล่วงหน้า ทำให้การตรวจสอบป้องกันและเตรียมรับมือกับปัญหาในสายการผลิตสามารถเกิดขึ้นได้อย่างทันควัน เป็นการสร้างมาตรการป้องกันเชิงรุกที่มีประสิทธิภาพ ไม่ต้องรอให้เกิดปัญหาขึ้นมาก่อนแล้วจึงค่อยแก้ไขอย่างในอดีตที่ผ่านมา

3.2 Product Quality Control

ในการควบคุมคุณภาพของชิ้นงานที่ผลิตนั้น การตรวจสอบชิ้นงานจำนวนมากที่ผลิตในแต่ละวันย่อมหลีกเลี่ยงความผิดพลาดได้ยากหากเป็นการทำงานของมนุษย์ทั่วไป ยิ่งการตรวจสอบข้อมูลที่มีความละเอียดอ่อนสูงและสามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วเช่น อุณหภูมิ ความดันหรือความชื้นแล้วนั้น ยิ่งต้องการการตรวจสอบที่ละเอียดและฉับพลันมากขึ้น ทำให้การเข้ามาของ AI ที่สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องและตอบสนองต่อการเปลี่ยนของข้อมูลได้แบบ Real-time จะช่วยให้การควบคุมคุณภาพมีมาตรฐานที่สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

3.3 Demand Planning

Demand Planning คือการวางแผนกำหนดจำนวนการผลิตสินค้าและคาดการณ์ความต้องการของตลาดเพื่อลดความสูญเสียจากการผลิตที่สูญเปล่าลง ซึ่งระบบ AI ก็สามารถเข้ามาช่วยรวบรวมและทำการวางแผนทิศทางขององค์กรให้ได้อย่างแม่นยำ ทั้งยังสร้างความโปร่งใสของข้อมูล ช่วยให้การทำความเข้าใจและการตัดสินใจดำเนินงานสามารถเกิดขึ้นได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น

นอกจาก 3 เคสหลักที่ได้ยกตัวอย่างมาแล้วนั้น ประโยชน์ของระบบ AI ยังสามารถนำมาปรับใช้ในการทำงานรูปแบบอื่น ๆ ได้อย่างหลากหลายตามเรียกได้ว่าแทบจะไม่มีจำกัด การเข้ามาของ AI ในภาคอุตสาหกรรมจะช่วยลดต้นทุนและเวลาที่ต้องใช้ในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้ง AI ยังเป็นหัวใจหลักที่สำคัญในการพัฒนาและต่อยอดเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในอนาคตอีกด้วย

ที่มาภาพ : Image by macrovector on Freepik

ข้อแนะนำก่อนตัดสินใจใช้ AI

อ่านมาถึงจุดนี้หลายท่านอาจจะรู้สึกว่าประโยชน์การใช้งานของระบบ AI นั้นช่างมีมากมายและทำได้แทบทุกอย่าง แต่ที่จริงแล้วไม่ว่าระบบ AI จะล้ำไปเพียงใดก็ยังคงมีความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดพลาดในการประมวลผลได้หากมีการรับ-ส่งข้อมูลที่ผิดพลาดเกิดขึ้น ดังนั้นการนำ AI เข้ามาช่วยไม่ว่าจะในงานประเภทไหนก็ยังควรจะมีมนุษย์คอยดูแลตรวจสอบความถูกต้อง ซึ่งการพัฒนาและนำ AI เข้ามาปรับใช้ในการผลิตสำหรับแต่ละธุรกิจก็ย่อมมีต้นทุน ความท้าทายและรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป ผู้ที่สนใจก็อย่าลืมปรึกษาผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้เพื่อให้การลงทุนของคุณเกิดความคุ้มค่าได้มากที่สุด

ทิ้งท้ายหลังอ่าน

หลังจากที่เราพูดถึงเทรนด์ที่น่าสนใจเหล่านี้ไปแล้ว หลาย ๆ ท่านอาจจะยังสงสัยว่า แล้วเทรนด์ของระบบอัตโนมัติเหล่านี้จะเข้ามามีผลต่ออุตสาหกรรมในบ้านเราได้อย่างไรกันนะ ? ต้องบอกว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ได้เริ่มมีการผลักดันจากทางภาครัฐและจะเข้ามากลายเป็นตัวกำหนดทิศทางที่สำคัญสำหรับอุตสาหกรรมการผลิต ผู้ประกอบการทั่วโลกไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือใหญ่หากต้องการจะเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตของตัวเองขึ้นย่อมต้องมีการหันมาลงทุนในเรื่องของระบบอัตโนมัติ ฉะนั้นผู้บริหาร วิศวกรและพนักงานทุกท่านเองก็ต้องเริ่มเรียนรู้ ปรับตัวและพร้อมพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ เพื่อให้สามารถตามโลกของการผลิตยุคใหม่ได้ทัน

ทั้ง 3 เทรนด์เทคโนโลยีที่เรารวบรวมมานำเสนอในครั้งนี้ต่างก็เป็นระบบอัตโนมัติที่มีความโดดเด่นและจะก้าวเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในธุรกิจและอุตสาหกรรมหลายประเภทรอบโลก และหากผู้ประกอบการท่านไหนที่กำลังตัดสินใจอยากลงทุนกับระบบอัตโนมัติแต่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มตรงไหนดี ก็หวังว่าบทความนี้จะช่วยนำเสนอเทรนด์ดี ๆ ในปี 2023 ให้ทุกท่านสามารถใช้ประกอบการตัดสินใจได้ สุดท้ายนี้ใครที่ไม่อยากจะล้าหลังเทคโนโลยีใหม่ ๆ ก็อย่าลืมคอยติดตามเทรนด์ของระบบอัตโนมัติเหล่านี้เอาไว้เพื่อนำมาปรับใช้ให้ธุรกิจของคุณสามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างทันสมัยและมั่นคง

Categories
Article Automation News

ระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติ – RPA ตัวเร่งธุรกิจ E-Logistics เปลี่ยนต้นทุนเป็นกำไร

Robotic Process Automation (RPA) เป็นซอฟต์แวร์ที่เติบโตมากที่สุด เมื่อเทียบกับซอฟต์แวร์ระดับองค์กร RPA คือ หุ่นยนต์ที่อยู่ในรูปแบบของซอฟต์แวร์เหมาะสำหรับงานที่ต้องทำซ้ำ ๆ มีปริมาณมาก ๆ ต้องการความแม่นยำและรวดเร็ว

ขณะที่รัฐบาลไทยกำลังเดินหน้าผลักดันนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ให้เกิดขึ้นในทุกภาคส่วนหลายบริษัทในหลากอุตสาหกรรมเองก็กำลังเร่งปรับตัวขนานใหญ่เพื่อรับมือกับความท้าทายทางด้านเทคโนโลยีที่ถาโถมมาอย่างไม่หยุดยั้ง บางแห่งเริ่มนำระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติและเทคโนโลยีต่าง ๆ มาช่วย transform ธุรกิจให้อยู่รอด ลดต้นทุนในกระบวนการต่าง ๆ ภายในองค์กร ตลอดจนนำมาเสริมการให้บริการ อาทิ Big data, Internet of Things (IoT), Cloud, Artificial intelligence (AI), Blockchain ฯลฯ

โดยเฉพาะธุรกิจการขนส่งและโลจิสติกส์นั้นมีภาพรวมการเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องอันเป็นผลมาจากการขยายตัวของตลาด e-Commerce ที่มีผู้เล่นรายใหม่ ตบเท้าเข้ามายังตลาด ETDA เคยคาดการณ์มูลค่า e-Commerce ของกลุ่มอุตสาหกรรมการขนส่งอยู่ที่ 1.2 แสนล้านบาท โดยอยู่ในลำดับที่ 5 จาก 8 กลุ่มอุตสาหกรรมทั้งหมดสำหรับปี 2561 แสดงให้เห็นถึงโอกาสการเติบโต และศักยภาพในการขยายตัวของตลาดที่ยังเปิดกว้างแก่ผู้ประกอบการทางด้านนี้หากมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้เปลี่ยนผ่านไปสู่ E-Logistic

RPA_E-Logistics

ข้อมูลจาก PWC เผยว่า Software เป็นหนึ่งเทรนด์ที่สำคัญของการทำธุรกิจด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ (Transport & Logistics) เพราะช่วยเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานภายใน ช่วยลดต้นทุน และสร้างผลลัพธ์ที่ดีให้กับธุรกิจในระยะยาว โดยใช้พื้นฐานมาจากเทคโนโลยีกลุ่ม AI, IoT, Big Data และ Blockchain ซึ่งประกอบด้วย 5 โซลูชั่นสำคัญที่ช่วยก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในองค์กรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่

  • โซลูชั่นระบบขนส่งอัจฉริยะ (Intelligent Transport System)
  • โซลูชั่นการคาดการณ์เพื่องานซ่อมบำรุงและตรวจสอบสภาพแวดล้อมด้วยโดรน (Predictive Maintenance and Drone Supervision)
  • โซลูชั่นระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติ (Robotic Process Automation หรือ RPA)
  • โซลูชั่นบล็อกเชนและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง (Blockchain DLT Solutions)
  • โซลูชั่นปัญญาประดิษฐ์ (AI Solutions)

ซึ่งเทคโนโลยีขั้นแรกที่หลายองค์กรนำมาใช้เป็นกลยุทธ์แรก ๆ เพื่อเปลี่ยนผ่านการทำงานภายในสู่การเป็นผู้ให้บริการ E-Logistic สมัยใหม่ ก็คือ RPA (Robotic Processing Automation) เพราะเป็นการเปลี่ยน ต้นทุน ผสานรวมระบบการทำงาน และพัฒนา workforce ไปสู่การสร้างสิ่งใหม่ ๆ ให้กับองค์กรในระยะยาวได้ บริษัท ฟูจิ ซีร็อกซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้ให้บริการโซลูชั่น RPA มีแนวทางการปรับใช้ RPA ให้แก่องค์กรด้านโลจิสติกส์มานำเสนอ ดังนี้

แนวทางการปรับใช้ RPA เพื่อดำเนินธุรกิจการขนส่งที่น่าสนใจ

กระบวนการเรียกเก็บเงิน หนึ่งในความท้าทายสำคัญของการดำเนินธุรกิจคือการได้รับเงินโดยเร็วที่สุดหลังจากงานสำเร็จลุล่วงแล้ว โดยปกติขั้นตอนในการเรียกเก็บเงินมีความซับซ้อนและใช้หลายระบบในการทำงาน ซึ่งทำให้เกิดความล่าช้า ซอฟต์แวร์หุ่นยนต์ RPA จะช่วยเชื่อมต่อระบบการทำงานทั้งหมดเข้าด้วยกันโดยอัตโนมัติ และส่งเอกสารใบแจ้งหนี้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียกเก็บเงินให้รวดเร็วยิ่งขึ้น

ใช้ปรับกระบวนการสั่งซื้อสินค้า และการชำระเงินให้เป็นแบบอัตโนมัติ หลายบริษัทอาจยังใช้กระบวนการเดิม ๆ ในขั้นตอนการสั่งซื้อสินค้า เช่น ป้อนข้อมูลของลูกค้าแบบ manual ด้วยประสิทธิภาพของซอฟต์แวร์หุ่นยนต์ RPA จะช่วยเชื่อมโยงฐานข้อมูลของลูกค้า ประมวลผลการเบิกจ่ายเงิน ส่งอีเมลยืนยัน และยื่นคำสั่งซื้อแบบอัตโนมัติ

เชื่อมต่อซอฟต์แวร์หุ่นยนต์ RPA เข้ากับพอร์ทัลลูกค้า เพิ่มความเร็วการออกใบแจ้งหนี้ ไม่จำเป็นต้องกรอกข้อมูลซ้ำ ๆ บนระบบ หรือแนบข้อมูลเข้าไปกับใบแจ้งหนี้ด้วยตนเองอีกต่อไป สามารถใช้ซอฟต์แวร์หุ่นยนต์ RPA ช่วยดึงข้อมูลพร้อมทั้งแนบไฟล์ POD ที่สแกนเรียบร้อยแล้วไปพร้อมกับใบแจ้งหนี้ได้โดยอัตโนมัติ และสามารถอัพเดตข้อมูลดังกล่าวบนพอร์ทัลลูกค้าภายในไม่กี่วินาทีแทนที่แบบเดิมที่จะต้องเสียเวลาเป็นวัน ๆ

เพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารของลูกค้าด้วยคำสั่งซื้อแบบอัตโนมัติ และ ช่วยติดตามสินค้าในคลัง ใช้ซอฟต์แวร์หุ่นยนต์ RPA เพื่อช่วยตรวจสอบข้อมูลการจัดส่งสินค้า/เว็ปไซต์ เพื่อตรวจสอบว่าข้อมูลนั้นถูกต้อง และตรงกัน โดยเชื่อมโยงกับข้อมูลคำสั่งซื้อในระบบการจัดการคลังสินค้า ช่วยให้สามารถติดตามและตอบสนองกับลูกค้าได้รวดเร็วและสะดวกยิ่งขึ้น

RPA System
ตัวอย่าง ภาพระบบ RPA ที่เหมาะแก่ธุรกิจการขนส่งและโลจิสติกส์

ข้อมูลจาก Gartner ชี้ว่า Robotic Process Automation (RPA) เป็นซอฟต์แวร์ที่เติบโตมากที่สุดถึง 63% เมื่อปี 2561 และคาดการณ์ปีนี้จะมีมูลค่าราว 1.3 พันล้านดอลลาร์ (ราว 4 หมื่นล้านบาท) เมื่อเทียบกับซอฟต์แวร์ระดับองค์กร RPA คือ หุ่นยนต์ที่อยู่ในรูปแบบของซอฟต์แวร์เหมาะสำหรับงานที่ต้องทำซ้ำ ๆ มีปริมาณมาก ๆ ต้องการความแม่นยำและรวดเร็ว เช่น งานทางด้านป้อนข้อมูลเข้าระบบ งานบัญชี เป็นต้น เพราะ RPA มีความสามารถในการจัดการข้อมูลจำนวนมากจึงเป็นทางเลือกแรกที่ตอบโจทย์ธุรกิจประเภทนี้เนื่องจากจะเข้าไปช่วยจัดทำและเปลี่ยนแปลงข้อมูลขั้นพื้นฐาน อาทิ เอกสารพวกใบวางบิล ใบกำกับสินค้า รวมไปถึงกระบวนการรับคำสั่งซื้อจากลูกค้า และการตรวจสอบการบันทึก พวกใบสั่งซื้อสินค้า หรือเอกสารทางด้านกฎหมาย เป็นต้น

ปัจจุบันมีธุรกิจคนไทยที่นำ RPA มาใช้อย่างเต็มรูปแบบในเชิงปฏิบัติการแล้ว คือ บริษัท ซีทีไอ โลจิสติกส์ ที่นำระบบนี้มาใช้เปลี่ยนโฉมการทำงานของคน เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานควบคู่ไปกับการลดต้นทุนด้านการดำเนินงานทางด้านเอกสารภายใน ช่วยให้กระบวนการดำเนินงานภายในองค์กรราบรื่นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ RPA ยังช่วยให้พนักงานมีเวลาเพิ่มขึ้น สามารถไปทำงานในเชิงคิดวิเคราะห์หรืองานที่เพิ่มคุณค่าให้กับองค์กรได้ ซึ่งองค์กรจะได้รับประโยชน์ทั้งในด้านคุณภาพของงานจากบุคลากรที่มีทักษะ และปริมาณงานที่เพิ่มขึ้นจาก RPA ช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีศักยภาพได้อีกด้วย

RPA_Logistics

นอกจากการลงทุนนำโซลูชั่น RPA มาใช้เพื่อ transform ธุรกิจแล้ว ผู้บริหารควรมีการวิเคราะห์ ออกแบบและวางแผนล่วงหน้า หรือปรึกษาบริษัทผู้เชี่ยวชาญเพื่อช่วยให้การนำซอฟต์แวร์ดังกล่าวมาปรับใช้กับเนื้องานของธุรกิจได้อย่างเหมาะสม เพิ่มประสิทธิภาพงานที่มีอยู่ในขณะเดียวกันก็แบ่งเบาภาระงานที่เคยต้องใช้แรงงานมนุษย์ในการปฏิบัติการเป็นหลัก สอดคล้องกับข้อสรุปของเหล่า CEOs ในแวดวงโลจิสติกส์ที่ตอกย้ำถึงทิศทางของการดำเนินธุรกิจวันนี้ว่า ควรให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ (Operational Efficiencies) เป็นลำดับแรกสูงถึง 71%

ดังนั้นบริษัทที่ควรนำระบบอัตโนมัติ RPA เข้ามาประยุกต์ใช้กลุ่มแรก ๆ คือ บริษัทที่กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาของระบบงานหลังบ้าน มีต้นทุนจากการจ้างแรงงานจากภายนอก และต้องการเปลี่ยนต้นทุนให้ย้อนกลับมาเป็นกำไรนั่นเอง

 

บทความโดย: บริษัท ฟูจิ ซีร็อกซ์ (ประเทศไทย) จำกัด